วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การขยายพันธุ์ไผ่ตง

ไผ่ตงสามารถขยายพันธุ์ได้ 5 วิธีคือ การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แยกเหง้า ชำปล้อง และการขยายพันธุ์โดยการปักชำแขนง ซึ่งมีวิธีทำดังนี้ 1. การเพาะเมล็ด
ไผ่ตงเมื่อหมดอายุขัยจะออกดอกและตาย ปกติไผ่ตงจะเริ่มออกดอกในเดือนพฤศจิกายน-มกราคม เมล็ดไผ่ตงจะเริ่มแก่และร่วงหล่นประมาณเดือน มีนาคม-เมษายน เกษตรกรสามารถนำเมล็ดไผ่ตงที่ได้ไปทำการเพาะต่อไปโดยวิธีการดังนี้
1.1 การเก็บเมล็ดพันธุ์
      - เมล็ดไผ่ตงเมื่อแก่จัดจะร่วงลงพื้น เกษตรกรควรทำความสะอาดหรือถางโคนต้นให้เตียน เพื่อความสะดวกในการรวบรวมเมล็ดไผ่ตง หรือใช้วัสดุหรือตาข่ายรองรับเมล็ดพันธุ์ไผ่ตง กรณีเขย่าต้นให้เมล็ดร่วงจากต้น
      - รวบรวม เมล็ดพันธุ์ไผ่ตงที่ได้ ทำการฝัดด้วยกระด้งก็จะได้เมล็ดที่สมบูรณ์
      - นำเมล็ดที่สมบูรณ์มาขัด นวดเอาเปลือกออกโดยใช้พื้นรองเท้าแตะฟองน้ำ ขัดนวดเมล็ดบนกระด้ง และฝัดเอาเปลือกออก
      - นำเมล็ดที่ได้ไปผึ่งแดด ประมาณ 1 แดด ก็สามารถนำไปเพาะได้ เพื่อป้องกันแมลงและไม่ควรเก็บเมล็ดไว้เกิน 1 เดือน เพราะจะทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอกลดลง
1.2 วิธีการเพาะกล้าไผ่ตง
      - เมล็ดไผ่ตงที่จะเพาะควรขัดเอาเปลือกนอกออกก่อนถ้าเพาะทั้งเปลือกนอกเมล็ดจะงอกช้าและเติบโตไม่สม่ำเสมอ
      - นำเมล็ดไปแช่น้ำ 2 คืน หรือแช่เมล็ดด้วยน้ำอุ่นประมาณ 2 ชั่วโมงแล้วแช่น้ำอีก 1 คืน
      - นำเมล็ดขึ้นจากน้ำ แล้วห่อหุ้มเมล็ดด้วยผ้า
รดน้ำให้ชื้นอยู่เสมอประมาณ 2 คืน เมล็ดจะเริ่มงอก
      - นำเมล็ดที่เริ่มงอกไปลงแปลงเพาะที่มีขี้เถ้าแกลบผสมดินและทรายรองพื้นหนาประมาณ 4 นิ้ว หว่านเมล็ดแล้วกลบด้วยดินหนาประมาณ 1 ซม. คลุมแปลงด้วยวัดสุคลุมดิน เช่น หญ้าแห้ง และฟางข้าว
      - ทำการย้ายกล้า ภายหลังจากการเพาะลงแปลงแล้วประมาณ 15 วัน ซึ่งต้นกล้าไผ่ตงจะมีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว ย้ายกล้าที่แข็งแรงลงถุงเพาะและอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำ หรือในที่ร่มรำไร ประมาณ 6-8 เดือน ก็นำไปปลูกต่อไป 2. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
เราสามารถใช้ต้นกล้าไผ่ตงที่ได้จากการเพาะเมล็ดมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นการนำต้นกล้ามาขยายพันธุ์ให้ได้ปริมาณมาก ๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนต้นพันธุ์ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาต้นพันธุ์ที่มาจากการเพาะชำกิ่งแขนงออกดอกและตายเพราะกิ่งแขนงที่นำมาจากต้นแม่ที่มีอายุมากพร้อมที่จะออกดอกกิ่งแขนงนั้นจะมีอายุเท่ากับต้นแม่ ฉะนั้นเมื่อต้นแม่ออกดอก กิ่งแขนงที่นำไปปลูกก็จะออกดอกตายด้วยเช่นกัน แต่การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้องอาศัยขั้นตอนและเทคนิคทางวิชาการมาก จึงควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการหรือบริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการผลิต 3. การขยายพันธุ์โดยการแยกกอ เหง้า
การขยายพันธุ์วิธีนี้จะต้องคัดเลือกเหง้าที่มีอยู่ 1-2 ปี จะตัดให้ตอสูงประมาณ 50-80 เซนติเมตร แล้วทำการขุดเหง้ากับตอออกจากกอแม่เดิม โดยระวังอย่าให้ตาที่คอเหง้าแตกเสียหายได้ เพราะตานี้จะแตกเป็นหน่อต่อไป ส่วน "หน่อเจ่า" เป็นหน่อที่ขุดขึ้นมามีขนาดเล็ก สามารถแยกกอไปปลูกได้เช่นกัน การขยายพันธุ์วิธีนี้จะได้เหง้าแม่ที่สะสมอาหารอยู่มากจึงมีอัตราการอดตายสูงทำให้หน่อแข็งแรงและได้หน่อเร็วกว่าวิธีขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนงหรือลำ ได้พันธุ์ตรงกับสายพันธุ์เดิม แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากเสียเวลาแรงงาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก 4. การขยายพันธุ์โดยใช้ลำ
การขยายพันธุ์วิธีนี้จะต้องทำการคัดเลือกลำที่มีอายุประมาณ 1 ปี แล้วนำมาตัดเป็นท่อน ๆ โดยให้แต่ละท่อนมี 1 ข้อ ซึ่งการใช้ท่อนตัด 1 ข้อ จะต้องตัดตรงกลางและให้รอยตัดทั้งสองห่างจากข้อประมาณ 1 คืบ และควรเป็นลำที่มีแขนงติดอยู่โดยจะต้องตัดให้แขนงเหลือยาวประมาณ 1 คืบด้วย จากนั้นจึงนำไปชำในแปลงเพาะชำ โดยวางให้ข้ออยู่ระดับดินและให้ตาหงายขึ้น ระวังอย่าให้ตาได้รับอันตราย แล้วใส่น้ำลงในปล้องไผ่ตงให้เต็ม และคอยเติมน้ำให้อยู่เต็มอยู่เสมอ
การเพาะวิธีนี้จะต้องหมั่นดูแลรดน้ำให้ความชุ่มชื่นอยู่เสมอหลังจากนั้นประมาณ 2-4 สัปดาห์จะพบหน่อและรากแตกออกมา เมื่อหน่อแทงรากแข็งแรงเต็มที่ ประมาณ 6-12 เดือน ก็ทำการย้ายปลูกได้ 5. การขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งแขนงปักชำ
กิ่งแขนงคือ กิ่งที่แยกออกจากลำต้นไผ่ตรงบริเวณข้อ ซึ่งโคนกิ่งแขนงจะมีรากงอกเห็นได้เด่นชัด การใช้กิ่งแขนงขยายพันธุ์เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเพราะสะดวกและง่าย โดยมีการคัดเลือกดังนี้
      - ให้เลือกกิ่งแขนงที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1 1/2 นิ้ว
      - ให้เลือกรากของกิ่งแขนงที่มีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเหลืองและมีรากฝอยแตกจากรากแขนงแล้ว
      - ให้เลือกกิ่งแขนงที่ใบยอดคลี่แล้ว และกาบหุ้มตาหลุดหมดแล้วเช่นกัน
      - ให้เลือกกิ่งแขนงที่มีอายุ 4-6 เดือน ถ้าเป็นกิ่งค้างปียิ่งดี
การคัดเลือกกิ่งแขนง
ขั้นตอนในการปักชำกิ่งแขนง
เมื่อได้คัดเลือกกิ่งแขนงแล้ว ทำการตัดแยกกิ่งแขนงออกจากลำไผ่ จากนั้นตัดปลายกิ่งออกให้เหลือยาว 80-100 เซนติเมตร การปักชำควรจะทำในปลายฤดูฝนหรือในราวเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีกิ่งแขนงมาก โดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
      - เตรียมแปลงเพาะชำโดยการไถพรวนดิน แล้วควรตากดินทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้นทำการย่อยดินและปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอในกรณีที่พื้นที่เป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง และถ้าเป็นที่ลุ่มควรทำการยกร่องเพื่อให้มีการระบายน้ำได้ดี
      - ขุดร่องให้เป็นแนวเหนือ-ใต้ และขุดให้ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร แต่ละร่องห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้กิ่งแขนงได้รับแสงแดดทั่วถึงกันทุก ๆ ด้าน
      - นำกิ่งแขนงปักชำลงในร่องให้ห่างกันประมาณ 15-20 เซนติเมตร กลบดินแล้วใช้เท้าเหยียบให้แน่น รดน้ำทันที หลังจากชำเสร็จแล้วทำหลังคาด้วยทางมะพร้าวเพื่อบังแดด หมั่นดูแลรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน
      - หลังจากปักชำแล้วประมาณ 6-8 เดือน กิ่งแขนงที่ชำไว้จะแตกแขนงใบและรากที่แข็งแรงพร้อมที่จะย้ายลงปลูกในแปลงได้ การปักชำกิ่งแขนงอาจดำเนินการเพาะชำในถุงพลาสติกสีดำขนาด 8x10 นิ้ว สามารถเจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน
ถ้ามีการขนย้ายกล้าในระยะทางไกล ๆ ควรย้ายกล้าลงชำในถุงพลาสติกทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ต้นกล้ากิ่งแขนงที่ชำไว้แตกแขนง ใบ และราก ตั้งตัวได้และมีความแข็งแรง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น